สาระน่า่รู้ เกี่ยวกับบ้าน รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น  
   
   
   
   
 
 
 
 
 
 
   
 
 
 
บัญญัติ ๒๒ ประการ “บ้านหลังน้ำท่วม” โดย อ.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ (2)
SAHASUTHA : รับสร้างบ้าน, แบบบ้านสองชั้น
6. ปลั๊กไฟบ้านผม น้ำท่วมไม่เป็นไร น้ำลดจะเป็นไรมั๊ย ?

แม้คำถามของคุณออกจะกวนกวนอยู่บ้าง แต่เราก็พยายามเข้าใจและเห็นใจ ว่าในขณะที่น้ำท่วมนั้นท่านปิดวงจรไฟฟ้าทั้งบ้าน (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปิดคัทเอ๊าท์) น้ำท่วมก็คงไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าเดิน แต่พอน้ำลดอยากจะเปิดไฟใช้ คงหวั่นเกรงเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร เอาละครับ ผมขอสรุปแนวทางดังนี้ดีกว่า
1.
ลองเปิดคัทเอ๊าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา (อย่าลืมต้องมีฟิวส์ที่คัทเอ๊าท์เสมอ) หากปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งยังชื้น หรือเปียกอยู่ คัทเอ๊าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาด ลองเปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน ให้ความชื้นระเหย ออกไปบ้าง แล้วดำเนินการใหม่ หากคัทเอ๊าท์ยังตัดไฟเหมือนเดิม กรุณาตาม ช่างไฟฟ้า ผู้รู้เรื่องมาแก้ไข (เสียเงินบ้างก็เป็นเรื่องจำเป็น) ดีกว่าเอาชีวิตเสี่ยงต่อไป
2.
หากผ่านข้อที่ 1 ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้า ในปลั๊ก แต่ละอันว่ามี ไฟฟ้ามาปกติ หรือไม่ (อาจหาซื้อ อุปกรณ์ตรวจ กระแสไฟฟ้า ขนาดเล็ก จาก ห้างไฟฟ้าทั่วไป รูปร่างหน้าตาคล้ายไขควง มาเสียบทดสอบดูก็จะสะดวกดี) หาก ทุกจุดทำงาน ปกติก็ถือว่า สบายใจได้ไปอีกระดับหนึ่ง หากมีปัญหา บางจุด ก็อาจรอสักนิดให้ความชื้นระเหยออกเช่นข้อแรก (แต่หากพอมีเงิน กรุณาอย่าเสี่ยงเลยครับ)
3.
ดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังคงเปิดคัทเอ๊าท์เอาไว้ แล้ววิ่งไปดู มิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าเคลื่อนไหวหรือไม่ (อาจต้องรอสักพักโดยการจดตัวเลข หรือใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปไว้) หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่า ไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่หากมิเตอร์หมุนแสดงว่า ท่านยังปิดการใช้ไฟฟ้าในบ้านท่านไม่หมด หรือไฟฟ้า ตามสาย ตามท่อ ตามจุด บางจุดในบ้านท่าน อาจจะรั่วได้รีบตามช่างไฟมาดูแล
4.
เรื่องไฟฟ้านี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก เป็นเรื่องของคนขี้ขลาด ไม่ใช่เรื่องของผู้กล้าหาญ ดังนั้นกรุณาอย่าประมาท น้ำท่วมก็เสียหายมากพอแล้ว อย่าต้องมาจัดงานอัปมงคลตามหลังกันอีกเลย …ซีเรียสนะครับ !
7. น้ำลดแล้วประสาทเสียมาก พอมีกะตัง ทำยังไงกับระบบไฟฟ้าดี

ถือว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังนับว่าโชคดีกว่าประชาชนอีกมาก ในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา เพราะระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นกับการดำรงชีพ แต่มีอันตรายสูงและเข้าใจยาก ตรวจสอบยาก เพราะเราไม่สามารถเห็น "ตัวกระแสไฟฟ้า" ได้เลย หากคุณพอจะมีงบประมาณในการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านหลังน้ำท่วม เราขอแนะนำดังต่อไปนี้
1.
หากมีงบประมาณน้อย ตัดปลั๊กไฟที่อยู่ระดับต่ำ ๆ ในบ้านออกให้หมด (อาจจะตัดทิ้งเลย หรือจะเลื่อนตำแหน่งปลั๊ก นั้นขึ้นไปอยู่สูงกว่าพื้นห้องสักระดับ 1.10 เมตร ก็ได้)
2.
หากพอจะมีงบประมาณบ้าง ให้แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2 วงจร คือวงจรที่อยู่ด้านล่าง (ที่ซึ่งน้ำ อาจจะท่วมได้) และวงจรที่อยู่สูงๆ (ที่น้ำไม่อาจท่วมถึง)
3.
หากมีงบประมาณหนักขึ้นไปอีก แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 4 วงจร วงจรแรกสำหรับปลั๊กด้านล่าง (ยามน้ำท่วม) วงจรที่สองเป็นวงจรสำหรับจุดที่ใช้ไฟฟ้าทั่วๆไป (ที่น้ำไม่ท่วม) จุดที่สามสำหรับเครื่องปรับอากาศ (หากมี) เพื่อกันอาการไฟกระตุกเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน จุดสุดท้ายเอาไว้ในครัว เพื่อยามออกจากบ้านนานๆ อยากปิดคัทเอ๊าท์จะได้ไม่ต้องปิดหมด เพราะปิดหมดเจ้าตู้เย็นในครัวก็จะหยุดทำงาน อาหารในครัวก็เน่าเสียหมด หรือยามเราไม่อยู่บ้านอาจปล่อยทั้งกิจกรรมการใช้ไฟฟ้าไว้เพียงในครัวเท่านั้น
4.
หากมีงบประมาณมากขึ้นไปอีก แยกวงจรให้มากเข้าไปอีกก็ได้ อาจแยกเป็นวงจรชั้นบน วงจรชั้นล่าง วงจรนอกบ้าน ฯลฯ (โดยยังยึดถือวงจรตามข้อ 3 อยู่) แต่หากจะแยกวงจรมากๆ ดังนี้ และมีงบประมาณมาก ตามที่บอก น่าจะว่าจ้างวิศวกรไฟฟ้าเข้ามาคำนวณจะประหยัดและปลอดภัยกว่า
ปล. ขอแถมนอกเรื่องน้ำท่วมนิดเดียวครับว่า “อย่าเดินสายไฟกับสายสัญญาณต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ทีวีฯลฯ รวมไว้ด้วยกัน”เพราะสายไฟจะมีคลื่นแม่เหล็กไปรบกวนสัญญาณ ทำให้การรับสัญญาณไม่ชัดเจน
8. งูเงี้ยวเขี้ยวขอตะกวดแย้มังกรกิ้งกือ หนีน้ำมาอยู่เต็มบ้านเลย

กรณีมีสัตว์ที่เราไม่พึงประสงค์เข้ามาอยู่ในบ้านของเรา คงจะต้องค่อยๆแยกประเภทสัตว์ต่างๆออกเป็นประเภทเสียก่อน เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่มีสูตรสำเร็จที่จะจัดการให้หมดไปได้ด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งอาจจะแยกเป็นประเภทและการดำเนินการได้ดังนี้
1.
สัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่พอควร ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ เช่น งู ตะกวด จระเข้ ฯลฯ อะไรทำนองนี้ อย่าพยายามไปจับหรือจัดการเอง ทำการป้องกันบ้านและป้องกันตัวไม่ให้พวกเขามาทำอันตรายเรา (เราในที่นี้หมายถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราด้วยนะครับ) ให้ติดต่อหน่วยราชการอาสามาจัดการสัตว์ร้ายเหล่านี้
2.
สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กที่ไม่มีพิษ เช่น กิ้งกือ ไส้เดือน กิ้งก่า จิ้งเหลน ฯลฯ ก็ปล่อยเขาไว้ได้ บางท่านอาจจะรังเกียจ แต่ก็ทนนิดๆไว้ก่อน เอาเขาไปปล่อยในที่ที่สมควรปล่อยก็ได้ (ไม่รบกวนใคร) หรืออาจจะปล่อยเขาเอาไว้เฉยๆ ไม่นานเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเขาก็จะหายไปเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเขาเข้ามาในตัวบ้านเราโดยผ่านทาง “รู” ต่างๆในบ้านเรา ก็ต้องจัดการเอาเขาออกไปนะครับ
3.
แมลงต่างๆ ตั้งแต่ยุง แมงมุม ฯลฯ หรือแม้แต่มด ต้องไม่ให้เข้ามาในบ้านเรา ต้องพยายามปิดประตูหน้าต่าง ปิดรู ให้ดีเท่าที่จะทำได้ และคงต้องจัดการให้หมดไปตามปกติธุระ
4.
แมลงพิเศษ “ปลวก” ตอนนี้เขาคงยังไม่มา แต่อาจจะมาในอนาคตได้ ตอนนี้ยังไม่ต้องจัดการอะไร แต่พึงระวังไว้ว่า เมื่อน้ำลดไปไม่นาน จะต้องมีการป้องกันปลวกให้ดี เพราะโอกาสที่เขาจะมามีมากพอควรเลยครับ
5.
สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายที่หลงทางมา เช่น สุนัข แมว หรือแม้กระทั่ง ม้า ก็น่าจะดูแลเขาในระยะแรกก่อน เพราะชีวิตเขาก็คงลำบากอยู่เหมือนกันในขณะน้ำท่วม แล้วหลังจากนั้นค่อยพิจารณาว่าเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป (เช่นหาเจ้าของเดิม หาเจ้าของใหม่ ฯลฯ) อย่าเพิ่งไล่เขาออกไปไหนเลย ถือว่าทำบุญสร้างบุญกันครับ
9. ส้วมเหม็น ส้วมเต็ม ส้วมราดไม่ลง ส้วม ส้วม ส้วม ส้วม

หลังน้ำท่วม นอกจากปัญหาใกล้ตัวเรื่องระบบไฟฟ้า และวัสดุปูพื้นที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นปัญหาที่พบเห็นเสมอ แล้วเรื่องส้วมๆ ดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและหนักหนากว่ามาก เพราะเราไม่มีที่จะถ่ายทุกข์ ทุกข์เลยบรรจุ อยู่เต็มตัวเรา พอเราถ่ายทุกข์ออกมาหน่อยทุกข์นั้นดันไม่ย่อยสลาย บ้านเราก็เลยมีทุกข์ ลอยตุ๊บป่องตุ๊บป่อง เต็มไปหมด

เมื่อน้ำลดแล้ว ส้วมของบางท่านอาจจะยังคงมีปัญหาอยู่ บ้างอาจจะเป็นปัญหาดั้งเดิม บ้างก็เป็นปัญหา เกิดใหม่ บ้างก็จะสอดประสานกลมเกลียวกัน ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ ผมใคร่ขอสรุปรวมความปัญหาแห่งส้วมออกเป็นข้อย่อย ๆ ได้ 8 ประการ (ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่) ดังต่อไปนี้
1.
หากส้วมของท่านเป็นระบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม (หมายถึงเมื่อของเสียย่อยสลายแล้ว จะซึมผ่านสู่พื้นดิน ระบบนี้เป็นระบบ ที่นิยมกันทั่วประเทศเป็นเวลานาน) แล้วบ่อซึมของท่านวางอยู่ในบริเวณที่พื้นดินชุ่มฉ่ำ (อาจจะเพราะน้ำท่วมก็ได้) สิ่งที่เกิดก็คือบ่อซึมไม่ยอมซึมน้ำออก (แถมยามน้ำท่วม นอกจากน้ำจะไม่ไหลออกจากบ่อซึม น้ำที่ท่วมจะไหลย้อนเข้ามาในบ่อและระบบย่อยสลายอีกด้วย) ปัญหาที่ตามมาก็คืออาการ "ตุ๊บป่อง" ราดส้วมไม่ลง ใช้ส้วมไม่ได้ ส้วมจะเต็มบ่อยนั่นเอง แก้ไขได้ 2 ประการคือ หากพื้นดินชุ่มฉ่ำเพราะน้ำท่วม ก็ขอให้รอสักนิด ให้พื้นดินแห้งสักหน่อย แต่หากพื้นดินชุ่มฉ่ำชื้นตามธรรมชาติของพื้นที่ ก็กรุณาเปลี่ยนระบบมาใช้เป็นระบบเครื่องกล สำหรับย่อยสลาย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าถังส้วมสำเร็จ) ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายปฏิกูลต่างๆ กระทั่งเป็นน้ำสะอาด แล้วก็ปล่อยลงท่อระบายน้ำสาธารณะได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
2.
หากโถส้วมอยู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับระดับบ่อเกรอะ หรือถังส้วมสำเร็จรูป ทำให้ระนาบ ของท่อส้วมไหลไม่สะดวก หรือบางครั้งอาจจะมีอาการไหลย้อนกลับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามน้ำท่วม ทำให้ระดับน้ำ ณ ถังส้วม อาจสูงกว่าระดับโถส้วม) ทำให้เกิดอาการราดไม่ลง หรือตอนกดน้ำราดน้ำที่โถส้วม ทำให้ในโถส้วมมีแรงดันสูงมากขึ้น หากน้ำไม่สามารถไหลลงไปได้ ก็จะเกิดอาการแรงดันย้อนกลับทุกข์ทั้งหลายของเราจะกระฉอกขึ้นเปรอะเปื้อนได้
3.
อาจเกิดเพราะท่อส้วมแตกและอาจไปฝังในดิน (หรือเกือบจะฝังในพื้นดิน) ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และราดส้วมไม่ลง หรือบางครั้งเกิดอาการที่ตัดสินใจยาก เพราะบางครั้งราดลง บางครั้งราดไม่ลง เพราะไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมอย่างมาก หากกรณีนี้เกิดขึ้นในขณะน้ำท่วมยิ่งตัดสินใจยาก เพราะวันไหน ทุกข์ของเรามีน้ำหนักมาก วันนั้นก็อาจจะราดไล่ลงไปได้ วันไหนทุกข์ของเรามีมวลน้อยมีน้ำหนักน้อย ทั้งเสือกไสไล่ราดเท่าไรก็ดื้อไม่ยอมลงสักที
4.
บางท่านอาจจะลืมใส่ท่ออากาศให้ส้วมหายใจ เวลาราดน้ำจะราดไม่ลง (เหมือนกับพยายามกรอกน้ำใส่ขวด โดยไม่มีช่องอากาศเหลือเลยที่ปากขวดจะกรอกน้ำไม่ลง) บางบ้านอาจจะมีท่ออากาศ แต่ท่ออากาศอาจอุดตันได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความสกปรก หรือเกิดจากเศษผงเล็กลอยมาอุดตอนที่น้ำท่วมก็ได้
5.
ขนาดของบ่อเกรอะบ่อซึม หรือถังบำบัดสำเร็จขนาดเล็กเกินไป หลายครั้งพบปัญหา เพราะใช้อาคารผิดประเภท เช่น ออกแบบไว้ให้มีคนในบ้าน 5 คน แต่พอใช้จริงใช้เข้าไปตั้ง 8-9 คน ปริมาณทุกข์ต่างๆ จึงมากกว่าที่เคยคำนวณเอาไว้แต่แรก ถังส้วมจะเต็มบ่อยเต็มเร็วเพราะมีช่องว่างน้อย ถ้าเป็นระบบบ่อซึมก็มีพื้นผิวการซึมน้ำออกน้อย น้ำจึงซึมออกไม่ทัน
6.
ท่านอาจใส่สิ่งของที่ไม่น่าจะใส่ลงในโถส้วม หรือสิ่งของบางอย่างอาจจะลอยมากับน้ำท่วม เช่น แผ่นผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย ถุงมืออนามัย หรือ แปรงขัดส้วมอนามัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไม่ย่อยสลาย และเป็นสาเหตุแห่งการอุดตัน
7.
ถังบำบัดสำเร็จบางรุ่นบางยี่ห้อ ต้องใช้เครื่องมือกลเข้าปั่นอากาศเข้าไปช่วยการย่อยสลาย ซึ่ง อุปกรณ์เหล่านี้ ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวหนุนมอเตอร์ ในขณะที่น้ำท่วมท่านอาจจะปิดไฟฟ้าไว้ ดังนั้น หากจะถ่ายทุกข์อย่างมีความสุข อย่าลืมเสียบปลั๊กไฟฟ้ากลับเข้าที่เดิมนะขอรับ (เขาเรียกว่าเส้นผมบังส้วม)
8.
ถังบำบัดสำเร็จทุกยี่ห้อ จะต้องมีท่อให้น้ำไหล ออกจากถังบำบัดสู่ท่อระบายน้ำในบ้านเรา หรือสู่ท่อสาธารณะ จะต้องตรวจเช็คว่าระดับของท่อที่ออกจากถังบำบัดต้องสูงกว่าระดับท่อระบายน้ำเสมอ มิเช่นนั้น จะเกิดอาการไหลย้อนกลับอีกแล้ว
10. ผมต้องตรวจสอบอะไรเกี่ยวกับระบบประปาบ้าง

ระบบประปาเป็นระบบที่เหมือนกับไม่มีปัญหาเพราะเหตุเกิดจากน้ำท่วม แต่หากมองข้ามไปอาจทำให้คุณสูญเสียชีวิตอันเป็นที่รักยิ่งไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีระบบประปาที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ขอแนะนำการตรวจสอบดังต่อไปนี้
1.
คุณมีบ่อน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บพักน้ำที่อยู่ในระดับที่น้ำท่วมถึงหรือไม่ หากคุณมี ก็ขอให้นึกเสมอว่า น้ำที่ท่วมถึงนั้น มิได้สะอาดเหมือนน้ำประปา (กรุณาอย่าฉุนเฉียวกลับว่าน้ำประปาบ้านเรานั้นแสนจะไม่สะอาด) ขอให้ทำการล้างถังน้ำที่น้ำท่วมถึงให้สะอาดทั้งภายนอกภายใน (หากเป็นบ่อใต้ดินล้างเฉพาะ ภายในถัง ภายนอกคงไม่ต้องล้างกระมังครับ) อย่าเสียดายแรงงานหรือเสียดายน้ำเลยนะครับ
2.
บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำ กรุณาตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊ม รวมถึงถังอัดลมว่าอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี การตรวจสอบขั้นต้น อาจจะตรวจสอบจากเสียงเครื่องจักรทำงานว่าผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบแรงดันน้ำว่าเหมือนกับสมัยที่น้ำไม่ท่วมหรือไม่ ตรวจสอบถังลมว่าสามารถเก็บแรงอัดได้ดีและยาวนานตามที่น่าจะเป็นหรือไม่ … หากมีสิ่งผิดปกติอาจจะต้องปรับ - ถ่ายระดับน้ำ ระดับแรงดัน ในหม้อลม อีกทั้งน่าจะตรวจสอบดูว่ามีเศษผงที่ลอยมากับน้ำท่วมติดอยู่หรือเปล่า
3.
หากกรณีที่ปั๊มน้ำถูกน้ำท่วม ไม่น่าจะใช้การต่อไปโดยทันที เพราะจะมีอันตรายจากความชื้นในตัวมอเตอร์ที่อาจยังสะสมอยู่ น่าจะไปหาช่างมาตรวจสอบทำให้แห้งเสียก่อน ถ้าช่างยังไม่ยอมมาและคุณพอรู้เรื่องเครื่องจักรกลบ้าง ก็ถอดเอาไปให้เขาตรวจเช็ค (กรุณาอย่าเอาไปตากแดดแล้วคิดไปเองว่าความชื้นหมดแล้ว เป็นอะไรขึ้นมายามร้ายเมื่อหนีน้ำท่วมทัน แต่ไฟกลับไหม้บ้านหมดครับ)
<<< กลับไป ตอนที่ 1 อ่านต่อ ตอนที่ 3 >>>
สามารถดาวน์โหลดบัญญัติ 22 ประการ "บ้านหลังน้ำท่วม" ในรูปแบบ PDF ได้ ที่นี่



รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น
โทร 0-2542-2955-6, 0-2542-2691-2, 0-2542-2244
E-mail. info@sahasutha.com
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน   บ.อะไลฟ์เฮ้าส์ จำกัด  STBUILDER
Copyright ? 2004 SAHASUTHA CO.,LTD. All right reserved.
WEB SITE by  www.eTradeForce.com

บริษัท สหสุธา เรารับสร้างบ้านใส่ใจทุกรายละเอียด

รับสร้างบ้าน | แบบบ้านสองชั้น